*คัดลอกมาจาก http://savetcdc.wordpress.com *
![](file:///C:/DOCUME%7E1/kaito/LOCALS%7E1/Temp/moz-screenshot.jpg)
ครั้งหนึ่งประเทศของเราเคยมีศูนย์สร้างสรรค์งานการออกแบบ (Thailand Creative and Design Center) ครับ เราเรียกกันสั้นๆ ว่า TCDC
ที่จะเล่าให้ฟังนี่บอกก่อนนะครับว่าไม่เกี่ยวกับคุณทักษิน ใครจะเกลียดจะชอบอะไรแกผมไม่เกี่ยว จะเล่าให้ฟังในฐานะคนไทยที่เสียภาษี คนไทยที่รักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ คนไทยที่เชื่อในประชาธิปไตย และเชื่อในคนไทยด้วยกัน
TCDC นี่เกิดจากคนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่บังเอิญมีอาชีพเกี่ยวข้องกับการออกแบบ มีทั้งสถาปนิก มัณฑนากร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักออกแบบเสื้อผ้า ครีเอทีฟโฆษณา ได้มีโอกาสเข้าไปวิ่งวนกันอยู่ในแวดวงของรัฐบาลที่แล้ว และก็คิดเหมือนกับหลายๆ คนในปัจจุบันที่ชอบคิด (แต่ไม่ชอบทำ) ว่าประเทศเราเดินมาไกลขนาดนี้มีอะไรที่เราทำได้ให้กับอาชีพที่มีความคิดสร้างสรรค์แบบพวกเราได้บ้าง อะไรที่ช่วยทำให้คนรุ่นหลังที่อยากเดินตามรอยเรานั้นเก่งกว่าเรา และทำให้คนที่ยังไม่พบทางเดินเหล่านั้นค้นพบตัวเอง
พวกเรารู้กันในวงแคบๆ ดีว่าในภาพรวมระดับประเทศจากนี้ไป การออกแบบไม่ใช่เรื่องราวฟุ้งเฟ้อหรูหราอีกต่อไป แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับภาคการผลิตของประเทศ ถ้าไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในถ้ำก็จะรู้ดีว่าปัจจุบันสินค้าในโลก ส่วนใหญ่ต่างก็ผลิตในเมืองจีนแทบทั้งสิ้น ไม่มีทางเลยที่การผลิตในประเทศไทยจะสามารถสู้กับราคาสินค้าที่มาจากเมืองจีนได้ เราผลิตขาย 10 บาท เขาทำแค่บาทเดียว และนับวันคุณภาพของสินค้าที่มาจากเมืองจีนก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งเราเคยสบประมาทและมีความหวัง คุยโม้โอ้อวดว่าของจากเมืองจีนแม้จะถูกแต่ก็ไม่มีทางมีคุณภาพเท่ากับที่ผลิตจากประเทศไทย คนที่เคยพูดอย่างนั้นอาจจะลืมตาให้ดูกว้างขึ้น อีก 10 ปี ภาคการผลิตของไทยอาจจะหายไปเกือบหมดเกือบครึ่ง เลยก็ได้นะครับ
การออกแบบเป็นวิธีเดียวที่เห็นได้ชัดเจนที่จะทำให้ภาคการผลิตของเราเจริญเติบโตต่อไปได้ ภายใต้ทรัพยากรที่เท่ากัน แก้วน้ำใบเดียวกัน จาก 10 บาท เราสามารถขาย 100 บาทได้ ด้วยอานุภาพของการออกแบบ คนในรัฐบาลปัจจุบันยังคิดว่าการออกแบบเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นซึ่งไม่จริงเลย หนทางเดียวที่เราจะสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าภายใต้การใช้ทรัพยากรเท่าเดิม ชาวบ้านทอผ้าขายปรกติหลาละ 50 บาท วันนี้นักออกแบบไทยเข้าไปสร้างลวดลายการทอให้ใหม่ ขายได้หลาละ 250 บาท ฝ้ายใยต่างๆ ก็เท่าเดิม นี่คือสิ่งที่การออกแบบทำให้เกิดขึ้น
พวกเราก็คิดกันเองว่า หากประเทศไทยมีนักออกแบบเพิ่มขึ้นจาก 20,000 เป็นซัก 200,000 คนได้ ใน 5 ปี จะเกิดอะไรขึ้น คนเหล่านี้จะกระจายลงสู่ภาคการผลิตได้อย่างทั่วถึง และทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มพูนกับอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ ลองนึกถึงการผลิตของเราที่ต้นทุนเท่าเดิม เครื่องจักรเท่าเดิม แต่มูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้น 10 เท่า แค่ใช้สมองเท่านั้น สมองของคนไทยเราที่ไม่เป็นรองใคร หน้าที่ของเราเพียงแค่สร้างสมองเหล่านั้นให้เกิดขึ้นมาใหม่อีกมาก ๆ เท่านั้น
ถ้าสมมุติว่าในปีหนึ่งเราผลิตสินค้าได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ลองคิดถึงความแตกต่างที่จะกลายเป็นไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปีดู เป็นคุณคุณจะยอมลงทุนเท่าไหร่ที่คิดว่าจะคุ้มกัน เราคิดว่าปีละ 200 ล้านบาทนี่คุ้มมากนะครับ และเงิน 200 ล้านบาทต่อปีเพื่อการศึกษาของเยาวชนและประชาชนที่จะกลายเป็นการผลิตที่เพิ่มขึ้น 90,000 ล้านบาท ไม่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ฉลาดเฉลียวก็พอจะเข้าใจได้ เราคิดว่าเราอยากจะสร้างสถาบันกันสักแห่งหนึ่งเพื่ออาชีพของเรา ศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการออกแบบถึงได้เกิดขึ้นจากตรงนั้น
คนกลุ่มเล็กๆ นี้ได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งท่านเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จริงๆ ท่านก็เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมาหลายสมัยนะครับ สมัยท่านนายกชาติชายก็เคย ท่านเป็นที่ปรึกษาสมัยไหนประเทศดูเหมือนจะเศรษฐกิจดี ทำไมมีคนชอบนำท่านไปเชื่อมโยงกับคุณทักษิณเหนียวแน่นนักก็ไม่ทราบ ผมว่าท่านเป็นนักคิดนักปฏิบัติของชาติที่ไม่ชอบคุยโม้โอ้อวดว่าเก่งกาจเหมือนหลายคนที่พูดแต่ไม่ทำ หรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร อาจารย์พันศักดิ์ มีแนวความคิดและดำเนินการจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) อยู่แล้วตั้งแต่ท่านเข้ามาดำรงตำแหน่ง และจัดตั้งขึ้นโดยใช้กฎหมายองค์การมหาชนที่มีอยู่แล้ว ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นสมัยของท่านนายกอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นโครงสร้าง และ TCDC ก็เกิดขึ้นโดยมี OKMD รองรับ รวมทั้งโครงการอื่นๆ อีกหลายโครงการ อาทิเช่น สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (สมพช.) อุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (สคบ.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) เป็นต้น แต่ดูเหมือนอาจารย์พันศักดิ์ และคุณไชยยง ซึ่งเป็นผู้ช่วยของท่านในขณะนั้นให้ความสำคัญกับ TCDC เป็นพิเศษ อาจจะเป็นเนื่องด้วยท่านมีวิสัยทัศน์เดียวกัน และมองเห็นความสำคัญของการสร้างบุคคลากรที่มีความสามารถในการออกแบบ เพื่อประโยชน์ในภาคการผลิตของประเทศ และเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเกือบจะเป็นวาระแห่งชาติในขณะนั้น TCDC จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฐานะคนที่ไปยุไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ต้องรับผิดชอบ ถ่ายทอดสิ่งที่คิดออกมาเป็นรูปธรรม ผมเองก็อยากให้มีการประกวดแบบคัดเลือกกันอย่างเปิดเผย แต่เวลามีน้อยมากและเราเองก็ไม่อยากเสี่ยงให้เกิดข้อผิดพลาดใดๆ ถ้าศูนย์สร้างสรรค์งานการออกแบบ แต่สื่อสารด้วยภาษาทางด้านการออกแบบที่ผิดพลาดก็ไม่น่าจะเป็นผลดี การออกแบบให้นักออกแบบด้วยกันตำหนิได้น้อยที่สุดเป็นเรื่องยาก และ Political มาก หันซ้ายหันขวาผมก็เลยต้องรับหน้าที่นี้ไป คิดว่าถ้าออกมาดีก็โชคดี แต่ถ้าออกมาไม่ดี ก็ต้องเตรียมรับคำด่าว่าได้
TCDC เป็นโครงการแรกของประเทศก็ว่าได้เลยที่มีการคุยกันอย่างเข้มข้นว่าจะบริหารจัดการองค์กรอย่างไร ก่อนที่จะมีการออกแบบสร้างขึ้นมา ถ้าใครคุ้นเคยกับงานราชการ หรือโครงการหาเสียงของรัฐบาลโดยทั่วไปไม่ว่าสมัยของคุณทักษิน หรือสมัยไหนก็จะต้องเสนอโครงการกันก่อนว่าจะสร้างที่ไหน พื้นที่เท่าไหร่ งบประมาณอย่างไร แต่ไม่เคยมีสักโครงการเดียวที่มีความชัดเจนว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า ประเทศไทยจึงมีโครงการประเภทที่สร้างก่อนแต่บริหารไม่ได้อยู่เต็มไปหมด สุดท้ายก็ทิ้งร้างกันไปและค่อยๆ หายไป มีโครงการหนึ่งที่ถูกเสนอขึ้นมาในสมัยรัฐบาลที่แล้วเป็นโครงการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ขนาดหลายหมื่นตารางเมตร ซึ่งค่อนข้างจะใหญ่ติดอันดับโลก และผมเองก็พลอยตื่นเต้นชื่นชมว่าก็ดีสำหรับประชาชน ศิลปินก็ยกยอปอปั้นว่าดีก็อยากจะมีกัน แต่คนเสนอโครงการแกอยากจะสร้าง แกอยากจะเป็นกัณทารักษ์แต่ไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร คุณไชยยงซึ่งทำงานอยู่ในทำเนียบในสมัยนั้นก็ส่งสัญญานให้ถามไปว่าจะบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ขนาดมหึมานี้อย่างไร ถามสั้นๆ คนเสนอก็กลับไปคิดกลับมาเสนออีก 4-5 ครั้ง แกก็ตอบไม่ได้ เรื่องก็เลยตกไป ไม่รู้ว่านี่เป็นสาเหตุให้แกตามมาอาฆาตถึงปัจจุบันหรือไม่ เพราะแกอยากทำของแกมาก เราก็เข้าใจ
TCDC มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาเขียนโครงสร้าง
และเสนอวิธีบริหารจัดการทั้งในระบบห้องสมุดและระบบการจัดนิทรรศการ ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาระบบนิทรรศการนั้นเป็นบริษัทที่ให้คำแนะนำการออกแบบ
และบริหารจัดการกับพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกอีกนับร้อยแห่ง การออกแบบห้องแสดงนิทรรศการนี้สถาปนิกไทยเก่งแค่ไหนก็ยังฟังเขานะครับ ถ้าเราออกแบบไม่ได้มาตรฐาน โอกาสที่เราจะยืมนิทรรศการดี ๆ จากต่างประเทศอย่าง Vivienne Westwood นี่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเขากลัวของเขาจะเสียหาย ผมยกตัวอย่างแค่การออกแบบระบบระบายอากาศต้องเป็น laminar flow ระบบดูดลมกลับต้องอยู่ต่ำ ช่องปล่อยลมต้องอยู่สูง เพื่อรักษาระดับความชื้นและฝุ่นละอองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่นี้ก็ปวดหัวใช้ได้แล้วละครับ
พอรู้ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ถึงจะเริ่มออกแบบได้นะครับ ตอนแรกเรามองสถานที่กันไว้หลายที่ เนื่องจากความคิดเดิมโครงการใหญ่กว่านี้มาก เราอยากจะมีห้องแสดงนิทรรศการเอาไว้ยั่วยุให้เด็กของเราคัน เห็นเขาทำแล้วอยากทำเป็น เดินออกมาก็จะมีห้องสมุดรออยู่เป็นห้องสมุดเพื่อการออกแบบโดยเฉพาะ มีหนังสือ 20,000 กว่าเล่มที่ว่าด้วยเรื่องราวของการออกแบบล้วน ๆ ก็มาศึกษาเพิ่มเติมกันในห้องสมุดจะได้เข้าใจมากขึ้น หันซ้ายขวา มีโปรแกรมสัมมนาและปฏิบัติการ (Workshop) ต่าง ๆ เอากันจนทำเป็น เสร็จแล้วก็อยากมีส่วนที่สามซึ่งเป็นห้องแสดงผลงาน ว่าพวกนี้มาอ่านหนังสือทำ Workshop แล้วผลงานออกมาเป็นอย่างไร แล้วมีส่วนที่สี่ที่ภาคธุรกิจโรงงานหรือผู้นำเข้าสินค้าจะได้มาเดินดู เป็นนิทรรศการกึ่งถาวร ลองนึกภาพงาน BIG หรือ TIFF ที่มีแสดงสินค้ากัน 365 วันก็ได้ ว่าจะมีประโยชน์เพียงใด แสดงผลงานของนักออกแบบและผู้ผลิตไทยที่สั่งซื้อกันได้ทุกวัน
ด้วยเหตุผลของงบประมาณ และความยากเข็ญของราชการในการทำความเข้าใจกับเรื่องราวก้าวหน้าแปลกใหม่ ทำให้โครงการไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิดไว้ ถึงแม้ในสมัยนั้น หลายคนจะคิดว่ารัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องราวง่ายดายเลย แค่อธิบายให้สำนักงบประมาณเข้าใจว่าทำไมต้องซื้อเก้าอี้ที่ออกแบบอย่างดีตัวละ 50,000 บาท มาให้ประชาชนนั่ง เพื่อที่เด็กไทยของเราจะได้รู้ว่า อ๋อ มันตัวละ 50,000 เพราะอะไร ฉันจะได้ทำเป็นมั้ง แค่นี้ยังต้องอธิบายกันเมื่อย ราชการไทยที่ส่วนใหญ่ยังคิดช้าอยู่มากนะครับผมขอยืนยัน แต่ก็ดีแล้วก็จะได้กลัวคนโกง มัวแต่กลัวจะได้พัฒนากันช้าๆ คนเดือดร้อนคือภาคเอกชนครับไอ้ช้าๆ นี่ ราชการเขากินภาษีเราอยู่แล้ว ไม่ต้องรีบร้อนอะไร พวกเราก็ต้องหาเงินไปจ่ายภาษีไปเลี้ยงพวกเขา สุดท้ายเราก็ทำให้โครงการเลิกลงนะครับ จะได้เหมาะสมกับสถานที่ที่ได้ที่ Emporium นี้ด้วย ก็เหลือแต่ส่วนของห้องสมุด ห้องแสดงนิทรรศการ กับห้องปฏิบัติการ ส่วนประกอบอื่นที่เหลือก็พอจะมีหน่วยงานอื่นที่พอจะรองรับได้
องค์ประกอบสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในภายหลังคือ Material Connexion ซึ่งเป็นห้องสมุดวัสดุเพื่อใช้ในการออกแบบ แห่งแรกในประเทศไทยและ 1 ใน 4 สาขาทั่วโลก เป็นห้องสมุดที่รวบรวมและคัดเลือกวัสดุที่ใช้ในการออกแบบตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ , สิ่งทอและเครื่องเรือน ไปจนถึงสถาปัตยกรรม ที่เชื่อมโยงกับสาขาอื่นที่นิวยอร์ก , มิลานและโคโลญจน์ นอกจากนักออกแบบไทยจะได้มีโอกาสเห็นวัสดุที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบใหม่ๆ จากทั่วโลก ก่อนใครแล้วยังเป็นโอกาสที่เราจะได้ส่งออกตัวอย่างวัสดุใหม่ ๆ ออกไปให้ทั่วโลกได้รูจัก ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในการค้นคิดวัสดุใหม่ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ทำเอาวัสดุท้องถิ่นมาใช้หรือการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ เชื่อหรือไม่ตอนที่ผู้บริหารของ OKMD ชุดปัจจุบันที่อยากจะปิด TCDC ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน จะให้ปิดส่วนห้องสมุดวัสดุนี่ก่อนเลยนะครับดีว่ามีสัญญากับต่างประเทศไปยาว 3 ปี ก็เลยปิดไม่ได้ ท่านว่ามันเปลืองเงินนะครับ แต่เคยคิดบ้างไหมว่าโอกาสที่คนไทยจะนำวัสดุท้องถิ่นออกไปขายทั่วโลกนี่มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน วิสัยทัศน์ท่านทั้งหลายเหล่านั้นนี่เยี่ยมไปเลยนะครับ
เวลาที่ผ่านไป 2 ปี TCDC กลายเป็นหน่วยงานทางด้านการออกแบบที่ดีที่สุดในโลก ทุกคนที่มาเห็นพูดเหมือนกันหมดนะครับ ผมไม่ได้พูดเอง และความดีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานที่ หรือการออกแบบสถานที่ แต่เป็นความคิด ปรัชญา และการบริหารจัดการที่เยี่ยมยอดอาจารย์พันศักดิ์ และคุณไชยยง ทุ่มเทพลังงาน และความสัมพันธ์ส่วนตัวกับมิตรในต่างประเทศทั่วโลก ทำให้ TCDC เป็นองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับ และสร้างกระแสความคิดความสำคัญของการออกแบบออกไปในภูมิภาคอย่างรุนแรง เป็นครั้งแรกที่วิชาชีพการออกแบบในประเทศไทย เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ และก้าวนำทุกประเทศในเอเชีย ไม่นานนักหลังจากที่ TCDC เปิด ฮ่องกง สิงค์โปร์ ญี่ปุ่น และจีน ก็ประกาศที่จะนำเอาการออกแบบเป็นวาระสำคัญในการพัฒนาประเทศ และตั้งใจที่จะสร้างองค์กรในลักษณะเดียวกันบ้าง นานๆ ที่เราจะทำอะไรให้ชาติอื่นเขาอยากลอกได้นะครับ ทุกทีเราทำเป็นแต่ลอกเขา
คนที่ไม่ชอบ TCDC อยู่บ้างก็คงจะมีแต่คนไทยด้วยกัน สถาปนิกหรือ นักออกแบบบางท่านก็อาจจะว่าบ้างว่า TCDC ดูแล้วเป็นฝรั่งไม่เห็นสนับสนุนรากเหง้าของประเทศ สงสัยท่านเหล่านั้นจะไม่ได้ชมนิทรรศการแรกที่จัดขึ้นที่ TCDC นะครับ ที่ว่าด้วยวัฒนธรรมอีสาน ทีมงานเอาเรื่องราวของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราอาจยังไม่รู้จักดีมาเล่าในแง่มุมใหม่ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้คันไม้คันมือ อยากออกแบบอะไรที่ได้กลิ่นอายอีสานขึ้นมาทันที ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเวลาเรารู้จักใคร เราควรจะตัดสินเขาจากหน้าตา รูปร่าง หรือจิตใจ นิสัยกันแน่ อย่าสัมผัส TCDC แต่เพียงผิวเผินก่อนวิพากษ์วิจารณ์ นะครับ มารู้จักกันให้ใกล้ชิดสนิทสนม แล้วจะว่ากันบ้างก็คงไม่เป็นไร ให้เวลาเขาอีกหน่อยก็คงปรับปรุงตัวให้ถูกใจทุกๆ คนได้สักวัน
ประเทศไทยของเราก็คงยังมีกรรมอยู่มาก ผมคิดว่ามีเครื่องจักรที่ดีว่าได้ช้าบ้าง เร็วบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย ยิ่งเป็นเครื่องจักรที่เป็นอนาคตของความก้าวหน้าของเศรษฐกิจของชาตินี้ จะสร้างขึ้นมาขนาดมีอำนาจล้นฟ้ายังยากเย็น กว่าจะของบประมาณได้เลือดยังออกตา นี่ถ้ารัฐบาลง่อนแง่น ก็ไม่ต้องพูดถึงกันเลยนะครับ ผมก็ไม่รู้ว่าคนที่เขาดูแลเราตอนนี้คิดอะไร ถึงมารื้อเครื่องจักรที่ว่านี้เล่น ถอดเป็นชิ้นๆ ให้วิ่งไม่ได้ หัวเทียนใหม่ดี ก็เปลี่ยนหัวเทียนเก่ามาใส่ น้ำมันก็ไม่เติมให้ฝืดเคืองเสียอย่างนั้น มัวแต่คิดว่าไอ้คนขับเก่ามันไม่ดีมันโกง มันเกี่ยวอะไรกับเครื่องจักรอันนี้ไม่ทราบ คนขับมันตายไปแล้วนะ ก็ต้องทำลายเครื่องจักรนี้ให้ฉิบหายบรรลัยไปด้วย ก็ดีนะครับจะได้ลงเดินกันทั้งประเทศให้ล้าหลังสมใจ จะได้ปกครองกันง่ายๆ ว่านอนสอนง่าย หันซ้าย หันขวาได้ตามใจ
วันนี้ประธานบริษัท OKMD ท่านใหม่ ท่านก็มีวิสัยทัศน์เยี่ยมครับ รื้อเครื่องจักร TCDC จนเกลี้ยง ด้วยว่าท่านกลัวจะมีการคดโกงกัน ท่านวิ่งหามาปีกว่าแล้วหาไม่เจอรอยรั่วแม้แต่บาทเดียว ท่านเลยรื้อทิ้งเสียเลย อ้างว่ามีแล้วเปลืองเงิน ผมก็ไม่แน่ใจว่าเป็นความแค้นส่วนตัวหรือเป็นความแค้นระดับชาติ แต่ที่แน่ๆ คนไทยทุกคนเสียประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะสถาปนิกหรือนักออกแบบเท่านั้น แล้วที่คิดที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้วต้องทำลายให้เกลี้ยง กลัวว่าเดี๋ยวเขาจะกลับมา ก็อยากจะบอกว่าที่ท่านทำลายไปนี่ก็ผลงานของคนไทยกลุ่มหนึ่งด้วย คนไทยที่ตั้งใจเสียภาษีมาจ่ายท่าน คนไทยที่อยากให้ประเทศชาติร่ำรวยก้าวหน้าแบบพอดี ถามว่าคนที่คอยทำลายล้างสิ่งดีๆ ในสังคม จนถึงวันนี้ ทำคุณูปการอะไรให้กับประเทศบ้าง ที่ว่าเขาโกงเขาโกงไปเท่าไหร่กัน ที่ท่านทำให้เสียหายวันนี้เสียหายไปแล้วเท่าไหร่กัน
วันนี้บอร์ดของ TCDC โดนสลายไปแล้วเรียบร้อย โดยยุบรวมกับองค์กรอื่นใน OKMD ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อประหยัดงบประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ที่อาจจะทำให้ทั้งประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 90,000 ล้านบาทต่อปี คุณไชยยงที่ร่วมสร้างสรรค์องค์กรนี้มาแต่ต้นและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ก็โดนให้ออก
ตามกระบวนการทางด้านเทคนิคในการยุบรวมองค์กร ในฐานะคนไทยผมต้องขอบคุณคุณไชยยง ที่อดทนต่อแรงเสียดทานมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยที่ท่านไม่ได้ต่อสู้เพื่อคุณทักษิณหรือเพื่อใคร แต่ท่านต่อสู้เพื่อหลักการที่ถูกต้อง โดยมีความปรารถนาดีต่อวงการนักออกแบบและภาคการผลิตของประเทศ เป็นคนอื่นก็คงทิ้งกันไปนานแล้ว แต่ท่านก็ต้องอดทนมาก แล้วนี่คือสิ่งที่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราตอบแทนคนที่ตั้งใจทำความดีเพื่อประเทศชาติ ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าทำไมถึงออกมาเรียกร้องกันให้ทำความดี พอคนทำดีจริงๆ ก็ทำลายล้างกันเนื่องด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ก็แปลกดี
ก็มีความพยายามมากมายเหลือเกินที่นอกจากจะกำจัดผู้อำนวยการศูนย์แล้วก็อยากจะย้ายที่ตั้งของศูนย์ไปอยู่ที่อาคารจามจุรี ผมเอง เรียนตามตรงก็ไม่ได้โกรธแค้นเสียใจแต่ประการใดที่จะรื้อถอนงานของผมลงไปอย่างที่หลายคนชอบพูดกันหรอกนะครับ ผมเพียงแต่ไม่เข้าใจว่าจะย้ายไปเพื่อประหยัดค่าเช่าเดือนละ 1-2 ล้านบาท แต่ต้องลงทุนสร้างใหม่อีกเป็นร้อยล้าน กับของเดิมที่ลงทุนไปแล้วเกือบ 100 ล้านบาท ถ้าคิดค่าเสื่อมราคาด้วยก็แปลว่าส่วนที่ต้องเสียไปรวมกับที่ต้องลงทุนใหม่ก็ไม่ต่ำว่า 200ล้านบาท
กับสัญญาเช่าที่เหลืออีก 3 ปี อย่างมากก็ประหยัดงบประมาณค่าเช่าไม่ถึง 100ล้านบาท ผมคิดเลขไม่ค่อยเก่ง เงินที่เสียไปแล้วจะต้องเสียใหม่ รวมกับค่าเช่าใหม่ 3ปี ก็ไม่เข้าใจว่าประหยัดงบประมาณได้อย่างไร ที่ใหม่ที่จะย้ายไปก็มีขนาดเล็กลงครึ่งหนึ่ง แปลว่าพื้นที่สำหรับแสดงนิทรรศการก็จะพิการหรือหายไป ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ก็ขนาดใหญ่ไม่ค่อยจะพออยู่แล้ว มองไม่เห็นเหตุจริง ๆ ครับ
ถ้าอยากจะย้ายกันจริง ผมคิดว่าน่าจะเอาแรงไปขยายส่วนต่อในต่างจังหวัดน่าจะดีกว่า เหตุและผลขององค์กรแบบนี้ต้องลงเงินเพิ่มครับ ไม่ใช่ประหยัดเงิน เราก็พูดกันปาวๆ ว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ สังคมต้องอุดมปัญญาแต่พอปัญญาจะเกิดจริงก็บอกว่าต้องประหยัดงบประมาณ มีส่วนอื่นของประเทศต้องใช้เงิน (เช่น รถถังและเครื่องบินรบ) แขน ขา อาวุธ เป็นเรื่องสิ่งสำคัญ แต่สังคมไทยต้องเดินด้วยสมองครับ ไม่ใช่ใช้แรงแต่อย่างเดียว การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญนอกจากความรู้ทางด้านการบริหาร ที่จะก่อให้สังคมเกิดผู้นำใหม่ 200 ล้านบาทต่อปีนี้ยังน้อยไปเลยครับ สร้างประชาชนให้มีคุณภาพเท่าไหร่ก็ต้องลงทุนครับ ผมว่า
จะสร้างคนให้มีปัญญา ก็ต้องใช้คนที่มีปัญญากว่ามาสร้างกันนะครับ ธรรมดาคนมีปัญญาในราชการก็มี เอกชนก็มี แต่จะจูงใจกันด้วยจิตวิญญาณอย่างเดียวก็เห็นทีจะไม่ไหว ต้องจ้างมานะครับ ทีมงานทุกคนที่ทำงานอยู่ใน TCDC นี่ก็เข้าขั้นหัวกะทิทั้งนั้น เป็นธรรมดาที่เงินเดือนจะไม่น้อย เงินน้อยแล้วคนมีปัญญาแต่ไม่มีเงินที่ไหนเขาจะมาทำกันไหว ก็กล่าวหากันว่าบางตำแหน่งเงินเดือนสูงกว่านายกรัฐมนตรี ผมว่าความผิดอยู่ที่ตรงเงินเดือนนายกรัฐมนตรีมากกว่านะครับ ถึงต้องคดโกงกันมาทุกยุคทุกสมัยนั่นไง แล้วผู้บริหารของ OKMD ที่ตั้งกันเข้ามาใหม่นี้ก็เงินเดือนไม่น้อยเลยนะครับ มีใครดูกันบ้างหรือเปล่า แก้ปัญหาให้ถูกจุดนะครับ ช่วยๆ กันหน่อย
ถึงวันนี้คงไม่มี TCDC แบบที่เรารู้จักกันอีกต่อไป ด้วยอำนาจการตัดสินใจของคนสองคน ที่นั่งอยู่บนหอคอยที่ OKMD กับทำเนียบรัฐบาล สองคนที่ไม่เคยลงมาสัมผัสรากหญ้า แถมเราไม่ได้เลือกตั้งเข้ามาด้วย ก็คงถึงวาระที่ TCDC ก็คงต้องแตกดับไปพร้อมกับความหวังของประชาชนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มุ่งเปลี่ยนแปลงประเทศชาติให้ดีขึ้น ถ้าเป็นระบบการเมืองปรกติก็คงโดนโจมตีจนเละราบคาบ แต่นี่เป็นระบบแปลก ๆ แบบไทย ๆ ประชาชาชนก็ต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป ไม่งั้นอาจจะโดนตีหัวแตกได้ ที่เขียนที่เล่าให้ฟังก็เสียดายและเสียใจครับ ไม่ใช่เสียดายสถานที่หรือบุคคล แต่เสียดายโอกาสที่จะได้เห็นสังคมไทยดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ของไม่เสียก็ไม่รู้ไปซ่อมทำไม ซ่อมแล้วประกอบใหม่ นอกจากไม่แน่ว่าจะดีขึ้นแล้วยังอาจจะแย่ลง
อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตผมทำสิ่งที่เป็นรูปธรรม จากความคิดและความเชื่อ เพื่อที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น จากความปรารถนาดีอันบริสุทธิ์ใจจนกระทั่งถึงวินาทีที่นั่งเขียนตัวหนังสือเหล่านี้ แค่อยากจะถามว่าแล้วทุกท่านที่อ่านอยู่ตรงนี้ทำอะไรบ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมของเราให้ดีขึ้นบ้าง
ถ้าคิดไม่ออกตรงนี้อย่างน้อยก็ช่วยกันส่งต่อเรื่องราวของ TCDC ให้ทุกคนได้รู้จักกันมาก ๆ นะครับ
ยาวเกิ้นนนนน ขี้เกียจอ่านเป็นบ้า
ReplyDeleteยาวมาก อ่านไม่ไหว 555+
ReplyDeleteอ่านไม่ไหวอ่า...
ReplyDeleteอ่านแล้ว...เศร้า! T_T
ReplyDelete